ชะลูดช่อสั้นเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ทุกส่วนมียางสีขาว กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนละเอียด
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปรีแคบ กว้าง ๐.๔-๒.๗ ซม. ยาว ๑-๙.๖ ซม. ปลายมน แหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๔ เส้น ก้านใบยาว ๒-๙ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขนยาวละเอียดหนาแน่น ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกรูปไข่ กว้าง ๑.๑-๑.๒ มม. ยาว ๒.๔-๒.๖ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม มีขนละเอียดบริเวณแนวกึ่งกลางหรือที่ปลายเท่านั้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปทรงกระบอกแคบ สีเหลืองหรือสีเหลืองแกมสีส้ม ยาว ๓.๔-๔.๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีนวล เรียงเวียนซ้อนไปทางซ้ายในดอกตูม แต่ละแฉกรูปขอบขนาน ยาว ๑.๔-๒ มม. ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนเฉพาะบริเวณรอบ ๆ หรือเรียงเป็นแถบบริเวณใต้เกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก สูงจำกฐาน ๒-๒.๔ มม. ก้ำนชูอับเรณูเป็นเส้นเรียว ยาวประมาณ ๐.๓ มม. อับเรณูรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๙ มม. โคนรูปหัวใจ ไม่เชื่อมติดกับยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกเป็นอิสระยาว ๐.๕-๐.๖ มม. มีขนหนาแน่นทั่วไปหรือมีขนเฉพาะบริเวณรอบฐาน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายเส้นด้าย ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียรวมกันยาว ๑.๕-๒.๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กรูปรี
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลมหรือมีรอยคอดระหว่างเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. ผนังผลเมื่อแก่มีลักษณะค่อนข้างอวบน้ำ เกลี้ยง เมล็ดทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม.
ชะลูดช่อสั้นเป็นพรรณไม้ค่อนข้างหายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง และป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมในต่างประเทศพบที่จีน.