กระบองเพชร

Cereus hexagonus (L.) Mill.

ชื่ออื่น ๆ
เขียะ, หนามเขียะ (เหนือ); ตะบองเพชร (กลาง); ปะทำมังหลวง (เชียงใหม่)
ไม้พุ่มอวบน้ำ ลำต้นและกิ่งมีสันและร่องตามยาวขุมหนามห่างกันและมีหนามจำนวนไม่เท่ากัน ดอกสีขาว ผลรูปไข่ สุกสีแดง

กระบองเพชรเป็นไม้พุ่ม อวบน้ำ ลำต้นและกิ่งกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. ตั้งตรง คอดตรงรอยต่อแตกหน่อที่โคน เมื่อแรกเป็นสีเขียวอมน้ำเงินอ่อน หยักลึกเป็นร่องโดยรอบ ๓-๗ สัน อาจมีได้ถึง ๑๑ สัน สูง ๓-๑๕ ม. สันบาง เป็นคลื่น ร่องลึก ๓-๕ ซม. ขุมหนามห่างกัน ๑-๒.๕ ซม. แต่ละชุมมีหนามจำนวนไม่เท่ากัน ตามธรรมชาติมีได้ถึง ๑๕ อัน หนามยาว ๐.๗-๓.๕ ซม. ถ้าเป็นไม้ปลูกมีหนามน้อย

 ดอกออกเดี่ยวใกล้ยอด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕-๒๐ ซม. โคนกลีบรวมติดกันเป็นรูปกรวย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. กลีบรวมชั้นนอกสีเขียว น้ำตาลอมเขียว หรือแดงอมม่วงแดง รูปขอบขนาน ปลายแหลม กลีบรวมชั้นในสีขาวรูปขอบขนานปลายแหลม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกหลายแฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ

 ผลรูปไข่ กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๕.๕-๑๓ ซม. ผลสุกสีแดง มีขนเล็กน้อย เนื้อในสีขาว มีเมล็ดสีดำจำนวนมาก

 กระบองเพชรเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้เขตร้อน นำมาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยนานมาแล้ว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระบองเพชร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cereus hexagonus (L.) Mill.
ชื่อสกุล
Cereus
คำระบุชนิด
hexagonus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Miller, Philip
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Miller, Philip (1691-1771)
ชื่ออื่น ๆ
เขียะ, หนามเขียะ (เหนือ); ตะบองเพชร (กลาง); ปะทำมังหลวง (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์