เขาวัวเป็นไม้เถา เนื้อแข็ง กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมักออกเป็นคู่บนกิ่งหลัก เปลือกเรียบ ตามซอกใบมีตะขอโค้ง ๑ อัน ทำหน้าที่ยึดเกาะ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๔.๕-๖ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวแก่เป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๗-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปขอบขนาน ยาว ๔-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก แฉกลึก ๑ ใน ๓ ของความยาวหูใบ ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนประปราย และมีต่อมขนาดเล็กประปรายตามขอบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อเดี่ยวหรือคู่ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ยาว ๓-๕ มม. มี ๔-๖ ใบ ก้านดอกสั้น ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวไม่เกิน ๑ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก เกลี้ยงสีเขียวอ่อน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง อยู่ภายในหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนสั้นและมีรยางค์ที่ปลายผลก้านผลสั้นมาก เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ทรงรูปไข่ มีปีก ๒ ข้าง
เขาวัวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๖๕๐-๑,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ลาวและเวียดนาม.