ชะลูดจันดีเป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง ๑๕ ม.ลำต้นและกิ่งแก่มีเปลือกเป็นคอร์กหนา กิ่งอ่อนมียางสีขาว มีช่องอากาศประปราย เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓-๔ ใบ พบบ้างที่เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕.๘-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น เชื่อมกันใกล้ขอบใบเป็นเส้นขอบในจาง ๆ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง ที่ซอกใบมีต่อมขนาดเล็ก
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามปลายกิ่งยาว ๓.๕-๑๔ ซม. เกลี้ยง ใบประดับรูปใบหอก ยาว ๒-๔ มม. แต่ละช่อมีดอก ๒-๓ ดอกถึงจำนวนมากก้านดอกยาว ๓-๔ มม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายแหลม เกลี้ยง ขอบอาจมีขนครุยประปราย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ป่องเล็กน้อยบริเวณเกสรเพศผู้ ด้านนอกสีแดงเข้มเกลี้ยง ด้านในมีขนสั้นประปราย ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๓-๔.๕ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ปลายแฉกเรียวแหลม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกบิดเวียนซ้อนเหลื่อมไปทางซ้ายในดอกตูม ดอกตูมเป็นรูปกรวยคว่ำแคบ ปลายแหลม
ผลแบบผลแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอกแคบ กว้างได้ถึง ๘ มม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. สีน้ำตาลเข้ม มีช่องอากาศประปราย เมล็ดแบน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีจำนวนมากมีปีกทั้ง ๒ ด้าน
ชะลูดจันดีเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าเบญจพรรณป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๗๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม
คำระบุชนิดของพรรณไม้ชนิดนี่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.