จ๊าป่านชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งแขนงแผ่กางออกและคดไปมา มีขนหยาบสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๗.๔ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างหรือมน ขอบจักซี่ฟันหยาบ แผ่นใบมีผลึกหินปูนเป็นจุด ๆ ด้านบนมีรอยย่น และมีขนแข็งเอน ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๔ เส้น มีขนแข็งเอน ก้านใบยาว ๒-๖.๕ ซม. หูใบอยู่ด้านข้างโคนก้านใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายเว้าลึกเป็น ๒ แฉก ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกเป็นคู่ตามซอกใบ ยาว ๒-๓ ซม. มีช่อกระจุกกลมบนแขนงช่อดอกประปราย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก บางและแห้ง ดอกสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้มีก้านสั้น ดอกตูมรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๕ แฉก ลึกประมาณครึ่งหนึ่ง แฉกรูปไข่กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดตรงกับแฉกกลีบรวม รังไข่ที่เป็นหมันทรงรูปไข่ มีเหลี่ยม ๓ เหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนแบบขนแกะหนาแน่น ดอกเพศเมียไม่มีก้าน กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ตั้งตรง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียตั้งตรงเป็นกระจุกคล้ายแปรง
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่ มีเหลี่ยม ๓ เหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. มีขนแข็ง มีกลีบรวมติดทนเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จ๊าป่านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ป่าผลัดใบผสมไผ่ ป่าสน ป่าละเมาะที่สูงจากระดับทะเล ๕๕๐-๑,๓๗๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคมในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน และเวียดนาม
ประโยชน์ เปลือกในของลำต้นให้เส้นใย ใช้ทำเสื้อผ้า แหจับปลา และกระดาษ.