กระบกกรังเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. เรือนยอดรูปกรวยคว่ำหรือรูปทรงกระบอก ลำต้นส่วนที่เปลาไม่สูงนักและมักบิด โคนเป็นพอนค่อนข้างสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทาอ่อนแตกเป็นสะเก็ดอ้าทั่วไป มักตกชั้นสีเหลืองอ่อน เปลือกใต้สะเก็ดสีน้ำตาลแก่ เปลือกชั้นในสีชมพู กระพี้สีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลอมแดง กิ่งอ่อนมีขนสากตามปลายกิ่ง กิ่งแห้งสีชมพูคล้ำ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายมนหรือหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนเบี้ยวและหยักเว้า แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือน้ำตาลแดงเมื่อใบแห้งด้านล่างเป็นคราบขาวหรือสีเงิน และมักมีตุ่มหูดสีน้ำตาลซึ่งเกิดจากการกระทำของแมลงกระจายห่าง ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ใบอ่อนสีน้ำตาลอมม่วง ก้านใบมีขนยาว ๆ ทั่วไป หูใบเรียวแคบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามง่ามใบและตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม เรียงเป็นแนวเดียวกันบนก้านช่อแขนง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ โคนกลีบเลี้ยง ติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน ก้านช่อดอก กลีบเลี้ยง และด้านนอกของกลีบดอกมีขนนุ่มทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก ขนาดเล็ก รูปไข่ มีปีกยาว ๒ ปีก ปีกสั้น ๓ ปีก โคนปีกหุ้มมิดผลตอนล่างแต่ไม่เชื่อมติดกับตัวผลปีกยาวรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. มีเส้นตามยาวปีก ๗ เส้น มีเมล็ดแข็ง รูปไข่ ๑ เมล็ด
กระบกกรังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว เสี้ยนหยาบ ไสกบตกแต่งค่อนข้างยาก ขัดเงาได้ดีพอสมควร นิยมใช้ในการก่อสร้างที่อยู่ในร่ม เช่น เสา คาน รอด ตง.