ดำรงรักษ์

Damrongia lacunosa (Hook. f.) D. J. Middleton et A. Weber

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นอวบน้ำและเปราะบาง ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ยอด ดอกสีน้ำเงินอมม่วง ผลแบบผล แห้งแตก รูปทรงรี มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก


     ดำรงรักษ์เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงได้ถึง ๒๐ ซม. ลำต้นอวบน้ำและเปราะบาง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่ กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๒-๑๓.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ มน หรือคล้ายรูปติ่งหู อาจเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบค่อนข้างบางเมื่อแห้ง ด้านบนสีเขียว มีขนสั้นหนาแน่น ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขน ไร้ต่อมสีน้ำตาลหนาแน่นตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบ ข้างละ ๕-๘ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๑๑ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. ตั้งขึ้น มีขน หนาแน่น
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออก ตามซอกใบใกล้ยอด มี ๓-๕ ช่อ แต่ละช่อมี ๒-๑๐ ดอก ก้านช่อยาว ๖-๑๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. มีขน ไร้ต่อมหนาแน่น ใบประดับรูปใบหอกหรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลม โคน แผ่กว้าง ขอบเรียบ ไร้ก้าน มีขนไร้ต่อมเหมือนกับที่ก้าน ช่อดอก ก้านดอกยาว ๔-๙ มม. มีขนไร้ต่อม กลีบเลี้ยงรูป ปากเปิด สีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ยาว ๓-๓.๕ มม. ด้านบน ยาวกว่าด้านล่างเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูป คล้ายสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๓ แฉก แฉกกลางยาวประมาณ ๘ มม. แฉกคู่ข้างกว้าง ๐.๗- ๑.๓ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. ซีกล่าง ๒ แฉก กว้าง ๐.๗-๑.๔ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. ปลายแฉกเรียว แหลม ขอบเรียบ กลีบดอกสีน้ำเงินอมม่วง โคนเชื่อมติดกัน เป็นหลอดแคบ ยาว ๑.๘-๓.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรีกว้าง แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก กว้าง ๓.๖-๖.๕ มม. ยาว ๑.๗-๓ มม. ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกคู่ข้างกว้าง ๒.๘-๕ มม. ยาว ๓-๕.๕ มม. แฉกกลางกว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๓.๕-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ติดอยู่ในหลอด กลีบดอก เหนือโคนหลอดประมาณ ๒ มม. ก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ประมาณ ๒.๕ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็น หมันและลดรูปอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก ยาว ๓-๖ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนหนาแน่น มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านยอดเกสร เพศเมียยาว ๑-๑.๒ ซม. มีขนต่อม ยอดเกสรเพศเมีย รูปลิ้น ยาวประมาณ ๓.๕ มม.
     ผลแบบผลแห้งแตก สีน้ำตาล รูปทรงรี ยาว ๒.๗- ๖ ซม. มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ด ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
     ดำรงรักษ์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคใต้ พบตามเขาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูง ตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย
     ดำรงรักษ์เป็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งในสกุล Dam rongia ที่นายแพทย์ A. F. G. Kerr และศาสตราจารย์ W. G. Craib ตั้งชื่อสกุลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๖) ปัจจุบันสกุลนี้มีสมาชิก ๑๑ ชนิด พบในประเทศไทย ๘ ชนิด เช่น ดาดห้อย [D. fulva (Barnett) D. J. Middleton et A. Weber] พนมเบญจา [D. integra (Barnett) D. J. Middleton et A. Weber] เศวตฉัตร (D. purpureolineata Kerr ex Craib).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดำรงรักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Damrongia lacunosa (Hook. f.) D. J. Middleton et A. Weber
ชื่อสกุล
Damrongia
คำระบุชนิด
lacunosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Hook. f. )
- D. J. Middleton et A. Weber
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Hook. f. ) ช่วงเวลาคือ (1817-1991)
- D. J. Middleton ช่วงเวลาคือ (1963-)
- A. Weber ช่วงเวลาคือ (1947-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.