ชะลูดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มียางสีขาว กิ่งแขนงเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเรียงเป็นวงรอบ ๓-๕ ใบ รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๓-๔.๖ ซม. ยาว ๑.๑-๙.๓ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงมน โคนรูปลิ่มถึงมน แผ่นใบหนาหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนังเส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๓๑ เส้น เกลี้ยง อาจพบบ้างที่มีขนละเอียดบนเส้นกลางใบหรือบริเวณแผ่นใบด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๙ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตาม ซอกใบหรืออาจพบบ้างตามปลายกิ่ง ยาว ๑-๓.๕ ซม. มีขนละเอียด ก้านดอกยาว ๐.๕-๔.๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๐.๔-๐.๙ มม.
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔.๘-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑.๗ ซม. ผนังผลเมื่อแก่มีลักษณะค่อนข้างอวบน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนที่ปลาย เมล็ดทรงรูปไข่ กว้าง ๓.๙-๕ มม. ยาว ๔.๖-๘.๕ มม.
ชะลูดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย
ประโยชน์ เปลือกใช้แต่งกลิ่น อบผ้า และดอกใช้อบร่ำทำเครื่องหอม.