จ๊าป่านชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๓ ม. เปลือกบาง เกลี้ยง สีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้น กิ่งแก่มีช่องอากาศชัดเจน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๖-๖ ซม. ยาว ๗-๓๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา มีผลึกหินปูนเป็นจุด ๆ ด้านบนขรุขระ เมื่ออ่อนมีขนต่อมและหลุดร่วงไปเมื่อแก่ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เส้นโคนใบ ๓ เส้น เห็นชัดเจน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๗-๗.๘ ซม. มีขนสั้นนุ่ม มีหูใบ ๒ หู อยู่ด้านข้างโคนก้านใบ รูปใบหอกแคบ ยาว ๐.๘-๑.๙ ซม. แยกเป็นอิสระหรือเชื่อมกันเล็กน้อยที่โคนก้านใบ ร่วงง่าย ผิวมีขนสั้นนุ่ม
ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๐.๖-๐.๘ มม. ยาว ๑.๕-๒.๒ มม. บางและแห้ง ช่อดอกเพศผู้มักออกเป็นคู่ กว้างประมาณ ๐.๒ ซม. ยาวได้ถึง ๒๒ ซม. มักสั้นกว่าช่อดอกเพศเมีย มีช่อกระจุกกลมประปราย ก้านช่อดอกสั้นมาก ไม่มีก้านดอก กลีบรวม ๔ กลีบ สีเขียวอ่อนรูปรี กว้าง ๐.๒-๒.๔ มม. ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร รังไข่ที่เป็นหมันรูปทรงรี ช่อดอกเพศเมียมักออกเดี่ยวและไม่แยกแขนง กว้าง ๐.๒-๐.๔ ซม. ยาว ๙-๓๕ ซม. มีช่อกระจุกกลม เรียงค่อนข้างแน่น กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒-๔ แฉก ก้านช่อดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ตั้งตรง
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปลิ่มแคบ รูปใบหอกกลับ หรือรูปกระสวย กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๑.๘-๓.๙ มม. มียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จ๊าป่านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ชายป่าดิบเขาผสมก่อ หรือป่าดิบริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๕๗๕-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา จีน ลาว และเวียดนาม.