ขางแดงชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้ต้น สูงถึง ๕ ม. ตามยอด กิ่งอ่อน ช่อดอก และก้านใบมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่สีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเกลี้ยง มีช่องอากาศกระจัดกระจาย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายแหลม มน หรือเป็นติ่งสั้น ๆ โคนสอบหรือมน ขอบค่อนข้างเรียบหรือจักตื้น ๆ ห่างกัน โดยเฉพาะตามขอบที่ค่อนไปทางปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนเล็กน้อยหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น และมีต่อมเป็นจุดเล็ก ๆ กระจัดกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๔-๑๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ๑-๓ ช่อ แยกเพศ ช่อดอกเพศผู้ ยาว ๔-๑๓ ซม. มักยาวกว่าช่อดอกเพศเมีย บางครั้งแยกแขนงบ้างเล็กน้อย ช่อดอกเพศเมียยาว ๑-๗ ซม. ดอกเล็ก สีขาวอมเขียว ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงขนาดประมาณ ๑ มม. โคนติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก ๔-๕ แฉก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในมีขนยาวหนาแน่นและมีต่อมเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ ทั่วไป ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน ติดที่โคนแฉก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันติดตรงกลางแฉกกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑-(๒) เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ มม.
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. ผิวจะย่นเมื่อผลแก่
ขางแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบทั้งในป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและกัมพูชา.