กระบกเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๓๐ ม. ลำต้นเปลาโคนต้นมักเป็นพอน เปลือกสีเทาอ่อนแกมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาวอมเหลืองอ่อน แก่นสีเทาอมน้ำตาลและมีสารจำพวกทรายอยู่มาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือกลมรี แน่นทึบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๙ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายสอบเรียวเป็นติ่งมน โคนมน สอบ หรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านล่างสีเข้มกว่าเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๖ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๔ ซม. มีหูใบที่มีลักษณะพิเศษคือ ม้วนหุ้มยอด เรียวแหลม โค้งเล็กน้อยเป็นรูปดาบ ยาวถึง ๓ ซม. เมื่อหูใบร่วงไป จะทำให้กิ่งอ่อนมีรอยแผลรอบข้อ
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมหรือค่อนข้างเป็นรูปไข่ แบนเล็กน้อย กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง มีเนื้อหุ้ม เมล็ดแข็ง เนื้อในสีขาวมีน้ำมัน
กระบกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในป่าผลัดใบและป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๕๐-๓๐๐ ม. การผลัดใบจะผลัดใบหมดทั้งต้น และจะผลิใบใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบแถบภูมิภาคอินโดจีน
เนื้อไม้แข็งและหนัก เสี้ยนตรง ไม่แตกหรือแยกเมื่อแห้ง (Burkill, 1935) ใช้ทำฟืน ถ่าน ให้ความร้อนสูง ใช้ทำเครื่องมือกสิกรรมและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม เนื้อในเมล็ดกินได้ (กรมป่าไม้, ๒๕๑๕) น้ำมันที่ได้จากเนื้อในเมล็ดใช้ทำอาหาร สบู่ และเทียนไข (Burkill, 1935).