เขากวางเป็นเฟิร์นอิงอาศัยขนาดใหญ่ ลำต้นสั้น มองไม่เห็นจากภายนอก เนื่องจากมีใบปกคลุมหนาหลายชั้น ลำต้นปกคลุมด้วยเกล็ดทั่วไป โดยเฉพาะที่ยอดเกล็ดรูปรีถึงรูปช้อน ปลายกลมมน กว้าง ๔-๙ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. สีแดงหรือสีน้ำตาลอ่อน
ใบทวิสัณฐานประกอบด้วยใบที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์กับใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์ มีขนรูปดาวปกคลุมทั่วไป ใบที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับถี่ซ้อนกันประกบต้นจนดูคล้ายก้อนกลม แต่ละใบรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๒๐-๔๐ ซม. ยาว ๒๐-๕๐ ซม. แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง โค้งเป็นกระพุ้งกักเก็บน้ำได้มาก ขอบเรียบ เส้นใบแบบร่างแห นูนเป็นสันเห็นชัดเจนใบนอกสุดมีสีเขียวเข้ม ซ้อนทับใบที่ตายแล้วซึ่งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ส่วนใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีก้านสีเขียวชูแผ่นใบตั้งขึ้น แผ่นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๕-๘ ครั้ง คล้ายเขากวาง แขนงหนึ่งมีรูปคล้ายกระบวย กว้าง ๓-๑๕ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. มีก้านยาว ๕-๑๕ ซม.
กลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาลเข้ม มีเส้นแทรกทั่วไป และมีขนรูปดาวเรียงติดกันเป็นพืด ทางด้านล่างของแขนงรูปคล้ายกระบวย ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
เขากวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นบนต้นไม้ใหญ่ ตามคาคบไม้บริเวณที่ได้รับแสง ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย จากลักษณะของแผ่นใบประกบต้นที่มีเส้นใบนูน มีลักษณะเป็นร่องภายในจำนวนมาก จึงเหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยของแมลงขนาดเล็กต่าง ๆ โดยเฉพาะมด จึงมักพบเขากวางและมดอยู่ร่วมกันแบบสมชีพ.