ชะรักป่าเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น กิ่งแก่เกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓ ใบ หรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอกรูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๑๒ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือปลายมนมีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงถึงมีขนสีน้ำตาลหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีเกล็ดแบบก้นปิดประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ไร้ก้านใบหรือมีก้านใบยาวได้ถึง ๓.๕ ซม. อวบหนา มีขนสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งยาว ๑๒-๔๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๑๐ ซม. เป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านดอกอวบหนา ยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๓ ซม. ยาว ๐.๕-๗ ซม. ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปแถบ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ดอกสีขาวแกมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ยาว ๓-๘ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่นบริเวณปลายหลอด ด้านในมีต่อม ปลายหลอดตัดหรือแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก ไม่ชัดเจน แฉกมักยาวน้อยกว่า ๐.๗ มม. กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. อวบหนา ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนยาวสีขาวหนาแน่น ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปไข่กลับกว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายแฉกมนกลางกลีบด้านนอกมีขน แฉกข้างด้านละ ๒ แฉก แผ่กางออก สีขาวอมม่วง แฉกล่างสุด ๑ แฉก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกลมแกมรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผิวเป็นมันวาว ผลสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดทรงรูปไข่ รูปทรงรี หรือรูปขอบขนาน ยาว ๕-๖ มม. ผิวขรุขระ มี ๒-๔ เมล็ด
ชะรักป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาตะวันออก อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา จีนภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรโดยเกือบทุกส่วนของพืชชนิดนี่ ใช้ได้ทั้งเป็นยาภายนอกและภายใน รักษากลากเกลื้อน แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้ปวดหัว แก้เสียดท้อง อาการคลื่นเหียนรักษาโรคริดสีดวงทวาร.