จ๊าดอกอุนเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมมน มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น มีช่องอากาศกระจายทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๑๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมนหรือรูปหัวใจ มักเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนยาวห่างปนกับขนสั้นสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น ด้านล่างมีขนอุยสีน้ำตาลหนาแน่น มีต่อมสีเหลืองทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างหนาแน่นกว่า เส้นกลางใบเรียบทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบหนา ยาว ๑.๕-๔ ซม. เป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านช่อหนาเป็นสี่เหลี่ยม ยาวได้ถึง ๖ ซม. ดอกสีขาว ก้านดอกมีตั้งแต่สั้นมากจนยาวได้ถึง ๒ มม. ใบประดับรูปไข่หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๓ ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๑ มม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยมีขน ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายแฉกมน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง มีต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลประปราย กลีบดอกกึ่งสมมาตรตามรัศมี ยาว ๒-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ด้านนอกหลอดเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปรายที่ปลายหลอดคอหลอดกลีบดอกมีขนอุยสีขาว ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ปลายมน แฉกบน ๑ แฉก รูปไข่ แฉกล่าง ๓ แฉก แฉกกลางรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แฉกข้าง ๒ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนสั้นนุ่มหรือขนอุย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูหนา อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขนและต่อมสีเหลืองที่ปลาย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียหนา ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี ยาว ๓-๔ มม.เกลี้ยง มีต่อมกระจายทั่วไป เมล็ดขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด
จ๊าดอกอุนเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม.