คำป่า

Reinwardtia indica Dumort.

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เมล็ดรูปไต

คำป่าเป็นไม้พุ่ม สูง ๖๐-๙๐ ซม. ลำต้นตั้งตรง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับกว้าง ๐.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๑-๘ ซม. ปลายแหลมหรือมนและเป็นติ่งหนาม โคนแหลม ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยแกมหยักซี่ฟันตื้น ๆ แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. หูใบรูปลิ่ม ขนาดเล็ก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านดอกยาว ๑.๒-๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายแหลม ยาว ๑-๑.๘ ซม. แฉกนอก ๒ แฉก ใหญ่กว่าแฉกในที่มี ๓ แฉก กลีบดอกสีเหลือง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ปลายตัดตรงค่อนข้างมน มีก้านกลีบยาว กลีบบิดเวียน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๕ เกสร เรียงสลับกับกลีบดอก และเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก ๕ เกสร อยู่ตรงกับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูที่สมบูรณ์


ยาวไม่เท่ากัน ยาว ๖-๙ มม. ก้านชูอับเรณูที่เป็นหมันสั้นกว่ามาก มีต่อมนํ้าห้อยอยู่ทางด้านนอกของเกสรเพศผู้ ๒-๓ ต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓-๔ ช่อง แต่ละช่องมีผนังกั้นเป็น ๖-๘ ช่อง มีออวุลช่องละ ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๑-๑.๖ ซม. โคนเชื่อมกันยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. มี ๖-๘ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด รูปไต

 คำป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบในป่าดิบ ป่าสน และที่รกร้างว่างเปล่าที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๖๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คำป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Reinwardtia indica Dumort.
ชื่อสกุล
Reinwardtia
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dumortier, Barthélemy Charles Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1797-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา