ขางแข้งแคะเป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม สูง ๑-๕ ม. ลำต้นตรง เปลือกเรียบ สีน้ำตาล เรือนยอดกลม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือรูปกลมแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือตัด ขอบหยักซี่ฟัน มีต่อมตามรอยหยัก แผ่นใบบาง ด้านบนเกลี้ยง สีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นโคนใบมี ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ไม่โค้งเข้าหากัน แต่ไปเชื่อมกับเส้นโคนใบที่ใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได หูใบย่อยรูปแถบ ปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ ๒ มม. ติดที่ฐานใบ มีต่อมใส ๆ อยู่ในเนื้อใบบริเวณโคนใบ ๑-๓ ต่อม ก้านใบเกลี้ยงหรือมีขน ยาว ๓-๑๒.๕ ซม. หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแยกเพศ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด มี ๑-๒ ช่อ ออกตามข้อ ยาว ๕-๑๒ ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกและอยู่ห่างกัน มีกระจุกละ ๒-๕ ดอก ก้านดอกสั้นหรือไม่มีก้าน กลีบเลี้ยง ๒-๓ กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ ๑ มม. สีเขียวอ่อน ขอบกลีบมีขนและร่วงง่าย ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๘ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง มีดอกรวมเป็นกระจุกแต่อยู่ห่างกันเป็นระยะ กลีบเลี้ยง ๖-๘ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น กลีบรูปแถบ ปลายเรียวแหลม มีขนที่ปลาย ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนสีเทาคลุม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ อัน ยาว ๐.๗-๑.๑ ซม. โคนติดกันเล็กน้อย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม มี ๓ พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นสีเทาคลุม เมล็ดขนาด ๒-๓ มม.
ขางแข้งแคะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบเขา บางครั้งพบตามลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๕๐-๑,๓๐๐ ม. แต่ปรกติจะพบที่ระดับ ๑,๐๐๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกและเป็นผลในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน.