เฉาก๊วยดง

Platostoma tectum A. J. Paton

ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นและกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี ๔ ผล สีดำหรือสีน้ำตาล รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก เปลือกเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่

เฉาก๊วยดงเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง ๑ ม. แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนประปราย ขนชี้ลง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๒-๘ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม พบบ้างที่โคนตัด ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายเยื่อถึงบางคล้ายกระดาษมีขนและต่อมประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เห็นชัดเจนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบเรียว ยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนอุย

 ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งกว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงเป็นกระจุกรอบแกนช่อและเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกัน ๐.๕-๑ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. เมื่อเป็นผลยาว ๓-๕ มม. ก้านช่อ แกนช่อ และก้านดอกมีขนประปรายถึงหนาแน่นใบประดับเรียงเป็น ๔ แถว เห็นชัดที่ปลายช่อดอกอ่อนรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายโค้งออกด้านนอก สีเขียวเข้มโคนเว้าเป็นแอ่ง สีเขียวอ่อนหรือสีม่วงแกมเขียว ยาวได้ถึง ๕ มม. อาจติดทนหรือร่วงง่าย ด้านบนที่ปลายมีขนสั้นนุ่ม บริเวณโคนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๒ มม. เมื่อเป็นผลยาว ๓-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง แต่เมื่อเป็นผลลักษณะเป็นหลอดแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๓ แฉก เกลี้ยง แฉกกลางปลายมน แฉกข้าง ๒ แฉก


ปลายแหลม เมื่อเป็นผลแฉกข้างขยายใหญ่และโค้งลงจนขอบล่างซ้อนกัน ส่วนซีกล่างมี ๑ แฉก รูปขอบขนาน ปลายมนกลม เมื่อเป็นผลแฉกซีกล่างโค้งขึ้นปิดปากหลอดกลีบเลี้ยงไว้ ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม หลอดกลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีเส้นตามยาวและมีเส้นตัดตามขวางเป็นรูปคล้ายตาราง ด้านหน้าโคนหลอดกลีบเลี้ยงมีเดือยแหลม กลีบดอกรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๔ มม.

โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. โคนหลอดเป็นท่อแคบสั้น ๆ เหนือขึ้นมาขยายกว้างขึ้นด้านบนพองออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๓ แฉก แฉกกลางมีขนาดใหญ่สุด ปลายแหลมหรือมน แฉกข้าง ๒ แฉก กว้างประมาณครึ่งหนึ่งของแฉกกลาง ปลายมน ยาวเท่ากับหรือยาวกว่าแฉกกลาง ซีกล่างมี ๑ แฉก รูปกลม ยาวประมาณ ๒ มม. โค้งเป็นแอ่ง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร โผล่พ้นกลีบดอกและติดอยู่ที่กลีบดอกต่างระดับกัน มี ๒ เกสร ติดที่โคนแฉก

กลีบดอกซีกล่าง โคนก้านชูอับเรณูไม่มีรยางค์ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย อีก ๒ เกสร ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์ยาวและมีขนสั้นนุ่มจานฐานดอกด้านหนึ่งเจริญมากกว่าด้านอื่น ปลายมนอยู่ต่ำกว่ารังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ พู แต่ละพูมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้งอยู่เหนือแฉกกลีบดอกซีกล่าง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี ๔ ผล สีดำหรือสีน้ำตาล รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอกยาวประมาณ ๑ มม. เปลือกเรียบ เมื่อเปียกน้ำบางครั้งเป็นเมือกเล็กน้อย มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่

 เฉาก๊วยดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกพบตามที่โล่งในป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เฉาก๊วยดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Platostoma tectum A. J. Paton
ชื่อสกุล
Platostoma
คำระบุชนิด
tectum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Paton, Alan James
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1963-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี