ตองกายเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ความสูงรวมใบประมาณ ๑ ม. เหง้าใต้ดินใหญ่ มีรากแขนงจำนวนมากมีไหลเล็กเรียว
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกติดพื้นดิน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๘-๒๐ ซม. ยาว ๔๐-๙๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบเป็นกาบไปยังก้านใบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ พับจีบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม โดยเฉพาะตามเส้นใบเส้นใบจำนวนมากเรียงขนานตามความยาวใบ ก้านใบยาว ๓๐-๘๐ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มีหลายดอกชิดกันเป็นกระจุกถึงกึ่งรูปไข่ ยาว ๒.๕-๕ ซม. ก้านช่อดอกโดด ยาว ๑๖-๓๐ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านช่อแข็ง ช่วงที่มีดอกโค้ง ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มีขนตามขอบและเส้นกลางใบด้านล่าง ใบประดับช่วงบนสั้นกว่าใบประดับช่วงล่าง ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ ๗ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายมน แผ่นกลีบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาว ๕-๖ มม. ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. อับเรณูรูปแถบแคบ ยาว ๔-๕ มม. ติดที่ฐาน และเชื่อมกันเป็นรูปกรวยล้อมรอบก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงเกือบกลมถึงรูปทรงกระบอก มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กเรียวยาวกว่าก้านชูอับเรณู ยอดเกสรเพศเมียคล้ายเป็นตุ่ม มี ๓ พู
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีขาวถึงสีชมพูอ่อน รูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ผนังผลหนา ก้านผลยาว ๐.๕-๑ ซม. เมล็ดสีดำ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ผิวมีลาย
ตองกายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบในป่าดิบ เขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.