คนางเหมือด

Psychotria symplocifolia Kurz

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอกกลับ หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่กว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวถึงสีขาวแกมเหลือง กลิ่นหอมผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ ผลแก่สีนำเงินเข้ม เกือบดำ เมล็ดแบนทางด้านในและมีสัน มี ๒ เมล็ด

คนางเหมือดเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบเมื่อแห้งมีสีเขียวแก่ เส้นกลางใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เป็นสันนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๖-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง ๖ มม. ร่วงเมื่อแก่

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกสั้น ดอกสีขาวถึงสีขาวแกมเหลือง กลิ่นหอม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. ก้านดอกสั้นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ผิวเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายจักตื้น ๆ ๕ จัก ด้านนอกเกลี้ยงด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดใกล้คอหลอดกลีบดอกและเรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูยาวโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย จานฐานดอกอยู่ที่ส่วนบนของรังไข่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ยาวประมาณ ๐.๕ มม.

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ผิวเรียบ ผลแก่สีนํ้าเงินเข้มถึงเกือบดำมีรอยแผลเป็นของกลีบเลี้ยงที่ปลาย เมล็ดแบนทางด้านในและมีสันมี ๒ เมล็ด

 คนางเหมือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑,๐๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คนางเหมือด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psychotria symplocifolia Kurz
ชื่อสกุล
Psychotria
คำระบุชนิด
symplocifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ