ตาล ๑

Arenga caudata (Lour.) H. E. Moore

ชื่ออื่น ๆ
ตาลไก้ (เลย); ตาลรั้ง (จันทบุรี); เต่าร้างหนู (จันทบุรี, ใต้)
ปาล์มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๘-๒๐ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงรูปแถบ ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบด้านล่างสีเงินอมเทามีนวล กาบใบมีขอบเป็นเส้นใยสีน้ำตาลอมเขียวสานกันเป็นร่างแห ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบใบ ดอกสีนวลอมเขียวอ่อน มีใบประดับจำนวนมาก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี สุกสีส้มถึงสีแดง ผิวเรียบ มีเมล็ด ๑-๓ เมล็ด

ตาลชนิดนี้เป็นปาล์มขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๑.๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้น ๐.๖-๒ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๑.๒ ม. แต่ละต้นมีประมาณ ๑๐ ใบ มีใบย่อย ๘-๒๐ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงรูปแถบ กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๘๐ ซม. ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ โคนสอบเรียว ไม่มีติ่งใบ ขอบเรียบบริเวณใกล้โคนใบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเงินอมเทา มีนวล เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจากโคนใบจำนวนมาก ก้านใบยาว ๓๐-๖๐ ซม. ไม่มีก้านใบย่อย กาบใบมีขอบเป็นเส้นใยสีน้ำตาลอมเขียวสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด พบบ้างที่เป็นช่อแยกแขนง ๒ ช่อ ออกตามซอกกาบใบ ยาว ๒๕-๓๐ ซม. ปลายมักห้อยลง ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียออกดอกไม่พร้อมกัน ช่อดอกเพศเมียส่วนมากออกที่ปลายยอด มีใบประดับรูปสามเหลี่ยมจำนวนมาก ดอกสีนวลอมเขียวอ่อน มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงรูปกลม ยาวประมาณ ๑ มม. เรียงซ้อนเหลื่อม หนา กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปสามเหลี่ยม ขอบจดกันในดอกตูม กลีบดอกยาว ๕-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๑๓-๑๕ เกสร หรือมีจำนวนมาก ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีขนาดเล็กกว่า รูปทรงกลม กลีบดอกยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม.


ผลอ่อนสีเหลืองอมเขียว สุกสีส้มถึงสีแดง ผิวเรียบ ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีผลึกรูปเข็มที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน มีกลีบเลี้ยงติดทน มีเมล็ด ๑-๓ เมล็ด

 ตาลชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น บริเวณพื้นที่เขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย

 ประโยชน์ ชาวจีนนำใบตาลชนิดนี้มาเย็บเป็นหมวก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาล ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Arenga caudata (Lour.) H. E. Moore
ชื่อสกุล
Arenga
คำระบุชนิด
caudata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Moore, Harold Emery
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Moore, Harold Emery (1917-1980)
ชื่ออื่น ๆ
ตาลไก้ (เลย); ตาลรั้ง (จันทบุรี); เต่าร้างหนู (จันทบุรี, ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง