ดำตะโก

Diospyros wallichii King et Gamble ex King

ชื่ออื่น ๆ
ดำเขา, ดำตะโก, เนียนป่า, ผ้าไหม้, ไหม้ (ใต้)

ไม้ต้นขนาดกลาง เปลือกสีดำ ค่อนข้างเรียบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอก ใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ช่อดอกอาจลดรูปเหลือ เป็นดอกเดี่ยว ๆ ทั้งดอกเพศผู้และเพศเมียสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี หรือรูปทรงค่อนข้างกลม กลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่และหนามาก แข็งคล้ายไม้ เมล็ดรูปทรงรี แบนด้านข้าง มีเยื่อหุ้มเมล็ด


     ดำตะโกเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๕ ม. เปลือกสีดำ ค่อนข้างเรียบ เปลือกในและกระพี้สีเหลือง อ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง
     ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปขอบ ขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๔-๑๑ ซม. ยาว ๑๒-๓๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม แผ่นใบ ค่อนข้างหนาถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่าง มีขนหรืออาจเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๘ เส้น เส้นใบโค้ง ปลายเส้นมักเชื่อมต่อกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ ขอบใบ มักเป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง เส้นใบ ย่อยพอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
     ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก หรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบหรือเหนือรอย แผลใบตามกิ่ง มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๕ กลีบ ก้านดอกยาว ๑.๕-๒.๕ มม. มีขนนุ่ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆัง ปลาย แยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก ด้านในมี ขนเป็นเส้นไหม และมีขนสั้นนุ่มทางด้านนอก กลีบดอก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. โคนกลีบเชื่อม ติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็น ๔ แฉก ด้านใน เกลี้ยง และมีขนนุ่มทางด้านนอก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๔-๑๘ เกสร มีขนระหว่างพูอับเรณูตามยาว ก้านชูอับ เรณูเกลี้ยง รังไข่ที่เป็นหมันมีขนสั้นหนาแน่น ดอกเพศเมีย คล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ช่อดอกอาจ ลดรูปเหลือเป็นดอกเดี่ยว ๆ เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๘ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มีขนกำมะหยี่ มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๔ ก้าน มีขนคล้ายเส้นไหม และมีหนาแน่นตามอับเรณู ยอดเกสร เพศเมียเล็ก

 


     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี หรือรูปทรงค่อนข้างกลม โคนผลมน ปลายตัดหรือมน กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ผิวหนาและแข็งคล้ายไม้ กลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่และหนามาก แข็งคล้ายไม้ แนบติดกับตัวผลและมีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบผายกว้าง และจีบเป็นรางไปสู่ก้านผล ๔-๕ ราง ก้านผลยาวไม่เกิน ๕ มม. เมล็ดรูปทรงรี แบนด้านข้าง มีเยื่อหุ้มเมล็ด
     ดำตะโกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเล ถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ส่วนมากออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่าง ประเทศพบที่อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
     ประโยชน์ ผลดิบใช้เบื่อปลา เนื้อไม้ทำด้ามเครื่องมือ เกษตร ทำเสาบ้าน.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดำตะโก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros wallichii King et Gamble ex King
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
wallichii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King et Gamble ex King
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- King ช่วงเวลาคือ (1840-1909)
- Gamble ช่วงเวลาคือ (1847-1925)
ชื่ออื่น ๆ
ดำเขา, ดำตะโก, เนียนป่า, ผ้าไหม้, ไหม้ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และนางสาวอารี พลดี
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.