จางจืดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๑.๒ ม. กิ่งสีแดงเรื่อถึงสีน้ำตาลเข้ม เปลือกสีเทาถึงค่อนข้างดำ มีช่องอากาศสีน้ำตาลและแตกเป็นสะเก็ดบาง ๆ เปลือกในสีเหลืองอ่อน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ความยาวรวมก้านใบ ๕-๒๗ ซม. ก้านใบยาว ๓-๑๐ ซม. ใบย่อย ๓-๒๑ ใบ เรียงตรงข้ามยกเว้นใบปลายสุด รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๘ ซม. ยาว ๓-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลม อาจมีปลายเป็นติ่งแหลมบ้าง โคนมักเบี้ยว สอบหรือมน ขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางและมีตุ่มเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ปลายเส้นมักโค้งไปจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ทั้งเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดทางด้านล่าง เป็นร่องทางด้านบน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ค่อยชัด เมื่อแห้งโคนก้านมักย่นและออกสีดำเรื่อ ๆ ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือเหนือโคนก้านใบ ทั้งช่อยาว ๘-๓๐ ซม. เกลี้ยงช่อตั้งขึ้น ช่วงปลายช่อมีช่อแขนงยาว ๕-๑๖ ซม. และปลายช่อแขนงมีช่อกระจุกออกเป็นกลุ่ม ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงโคนอาจเชื่อมติดกันเล็กน้อย มี ๔-๕ กลีบ รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๐.๕ มม. สีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม เมื่ออ่อนด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง ขอบมีขนครุยกลีบดอก ๔-๕ กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๖-๑๐ เกสร ยาว
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมหรือทรงรีกว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เปลือกค่อนข้างบาง เหนียว ผลแก่สีชมพูถึงสีแดงเข้ม มักแยกตามรอยประสานเมื่อแห้ง เมล็ดสีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว มี ๑-๒ เมล็ด
จางจืดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ ป่ารุ่น ป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐-๑,๔๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน และมาเลเซีย
ประโยชน์ เปลือกต้นเป็นสมุนไพร เมล็ดเป็นพิษต่อสัตว์พวกนก.