ข่าคม

Alpinia zerumbet (Pers.) B. L .Burtt & R. M. Sm.

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด โค้งลง ใบประดับย่อยขนาดใหญ่ รูปถ้วย สีขาวปลายแต้มสีชมพู ดอกสีขาว แต้มสีชมพู กลีบปากสีส้ม ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี สุกสีส้มแดง

ข่าคมเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน สูง ๒-๓ ม.

 ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๕ ซม.ยาว ๕๐-๘๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มแคบ มีขนตามขอบใบและตามเส้นกลางใบด้านล่าง หรืออาจทั่วทั้งด้านล่างของผิวใบ ก้านใบยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ลิ้นใบยาวได้ถึง ๑.๒ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาวประมาณ ๒๐ ซม. โค้งลง ขณะยังอ่อนมีกาบใบ ๒-๕ แผ่นรองรับ ร่วงง่าย แกนช่อดอกมีขนคลุมแน่น ไม่มีใบประดับ มีใบประดับย่อยขนาดใหญ่ โคนติดกันเป็นรูปถ้วย กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. สีขาวปลายแต้มสีชมพู ผิวเกลี้ยง ช่อดอกย่อยบริเวณโคนมี ๒-๓ ดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ตื้น และแยกลึกลงเพียงด้านเดียว สีขาวปลายแต้มสีชมพู ผิวเกลี้ยงยกเว้นบริเวณขอบ กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม.ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปขอบขนาน มีขนตามขอบ แฉกบนกว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ปลายมนมีแต้มสีชมพู ๒ แฉกข้าง กว้าง ๐.๘-๑.๑ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันบางอันเปลี่ยนเป็นกลีบปาก รูปไข่กว้างแล้วค่อยแคบไปหาปลาย ปลายแยกเล็กน้อยเป็น ๒ แฉก สีส้มสด และมีรอยขีดสีแดงเข้มจากกลางแผ่นไปยังขอบทั้งสองข้าง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันที่เหลือรูปผอมบาง ยาว ๓-๕(-๘) มม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูด้านหลังมีขนต่อม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี กว้าง ๒ ซม. และยาว ๒.๕ ซม. มีขนคลุม

 ข่าคมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วไปตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและผลระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน

 ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าคม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia zerumbet (Pers.) B. L .Burtt & R. M. Sm.
ชื่อสกุล
Alpinia
คำระบุชนิด
zerumbet
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Persoon, Christiaan Hendrik
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Persoon, Christiaan Hendrik (1761-1836)
- Smith, James Edward (1759-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์