ชะมวงป่าเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๓๐ ม. กิ่งแขนงมักเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำเปลือกชั้นในสีแดง ส่วนต่าง ๆ มียางสีเหลือง ตายอดอยู่ในซอกก้านใบที่ปลายกิ่ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๓-๑๘ ซม. ปลายมนกลม เว้า หรือแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นสันนูนทางด้านล่างเส้นแขนงใบจำนวนมาก ปลายโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เห็นไม่ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๓ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบที่ร่วงแล้ว ดอกสีเหลืองหรือสีนวล ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปค่อนข้างกลม วงนอกเล็กกว่าวงในกลีบดอก ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ดอกเพศผู้เล็กกว่าดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มเดียว ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูสั้น ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมันดอกเพศเมียมีก้านดอกสั้น มีเกสรเพศผู้เป็นหมันรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีได้ถึง ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกตามแนวรัศมีมีได้ถึง ๘ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. สุกสีเหลืองอมส้ม เมล็ดมีได้ถึง ๘ เมล็ด เปลือกเมล็ดมีเยื่อหุ้ม
ชะมวงป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำและป่าพรุที่สูงใกล้ระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.