จ๊าเขือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ยาวได้ถึง ๒ ม. ทุกส่วนของกิ่ง ใบ และช่อดอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม.ปลายมนหรือแหลม โคนมน หยักเว้ารูปหัวใจ หรือสอบแหลม ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน พบบ้างที่ขอบเรียบและมีติ่งหนามห่าง ๆ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบอวบหนา ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มีขนซึ่งร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยในช่อมีแบบเดียวเป็นดอกสมบูรณ์เพศมี ๓-๖ ดอก ก้านช่อดอกและก้านช่อย่อยมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น วงใบประดับรูประฆัง สีเขียว ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ใบประดับย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมนหรือแหลม เรียงสลับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบเลี้ยงเป็นพู่สีชมพูแกมขาว เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกยาวประมาณ ๐.๖ มม. ชั้นในยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายมีขนสั้น กลีบดอกสีชมพูแกมม่วงหรือสีชมพูแกมขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก โผล่เหนือกลีบเลี้ยงเมื่อดอกบาน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูแยกจากกัน อับเรณูรูปแถบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลขนาดใหญ่ติดอยู่ที่ฐาน ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง โผล่พ้นหลอดกลีบดอกและหลอดอับเรณู ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก โค้งออก ด้านในมีขนประปราย ด้านนอกมีขนหนาแน่น
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปแถบ ยาวประมาณ ๓ มม. ผิวเป็นสันตามยาว ๘-๑๐ สัน มีขนยาวและขนต่อมประปราย ปลายมีขนเป็นพู่ยาวคล้ายขนแข็ง
จ๊าเขือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าดิบหรือที่โล่งริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่จีนและภูมิภาคอินโดจีน
ประโยชน์ เถ้าถ่านจากใบ ผล และกิ่ง ผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นน้ำมันทารักษาฝี.