กระเทียมต้นชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกสองปี สูง ๐.๔-๑ ม. มีหัวใต้ดิน รูปไข่ สีขาว มีกลิ่นอ่อนกว่ากระเทียม และไม่แบ่งเป็นหลายกลีบ
ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง ๑.๒-๕ ซม. ยาว ๓๐-๙๐ ซม. ปลายแหลม ขอบเรียบ และพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอก ทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อย ๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่จะมีสีขาวหรือขาวอมเขียว
ช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่มแน่น ขนาดใหญ่ กลม ก้านช่อดอกแบบบ้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาว ๐.๖-๑ ม. มีดอกเล็ก ๆ ประมาณ ๕๐ ดอก ก้านดอกย่อยยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. ไม่มีตะเกียง มีใบประดับ ๑ ใบ เป็นจะงอยยาวแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่พอช่อดอกบานใบประดับ จะเปิดอ้าออก และห้อยลง กลีบรวม ๖ กลีบ สีชมพู รูปไข่ ยาว ๕-๖ มม. แยกจากกันหรือติดกันที่โคน เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูมักยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก เป็นกระเปาะสั้น ๆ มี ๓ พู เมล็ดเล็ก สีดำ
กระเทียมต้นชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป และทางตะวันตกของทวีปเอเชีย เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น ถ้าปลูกในอากาศร้อนจะไม่มีดอก นำไปปลูกในส่วนอื่น ๆ ของโลกเพื่อใช้เป็นอาหาร โดยใช้ส่วนของลำต้นเทียมปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง ใช้ปรุงรสและแต่งกลิ่นอาหาร ในประเทศแถบอากาศหนาวใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นยาฆ่าเชื้อในลำไส้ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ บำบัดโรคไขข้ออักเสบ โรคตับ และใช้เป็นยาพอก (Perry and Metzger, 1980; Stobart, 1970)
กระเทียมต้นมีสารประกอบของกำมะถัน คือ methanethiol, dimethyl sulphide, dially sulphide (Pruthi, 1980) นอกจากนี้ ยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินเอ และวิตามินซี (Simpson and Ogorzaly, 1986).