เขยทานเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๒ ม. เปลือกบางสีน้ำตาล ขรุขระเล็กน้อย กิ่งและช่อดอกมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงประปรายถึงหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยมี ๕-๙ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนใบย่อยที่ยอดรูปลิ่ม โคนใบย่อยด้านข้างเบี้ยว ขอบเรียบเส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีต่อมน้ำมันเป็นหลุมทางด้านบนจำนวนมากกระจายทั่วไป ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขนยาวสีขาวประปราย ก้านใบประกอบรวมแกนกลางยาว ๒๐-๒๒ ซม. ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๕-๘ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๘ ซม. โคนก้านช่อดอกสีเขียวเข้ม แกนกลางช่อดอกและดอกตูมมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. สีน้ำตาลอ่อน ดอกเล็ก สีขาวกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. ปลายมน โคนสอบ มีขนสีน้ำตาลแดงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขนสั้นหรือเกลี้ยงรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเกือบกลม ยาวประมาณ ๑ มม. โคนเกลี้ยง ปลายมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง มี ๒-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบหนายอดเกสรเพศเมียเป็นพูกลม ๕ พู
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๘ มม. สีเขียวเข้ม เปลือกหนา ผิวขรุขระและมีต่อมน้ำมันกระจายทั่วผล มียอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลยาว ๕-๘ มม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดมี ๑ เมล็ด รูปคล้ายผล
เขยทานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบในป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณ ตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๖๕๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายนในต่างประเทศพบที่เมียนมาและจีน.