ข่าใหญ่

Alpinia siamensis K. Schum.

ชื่ออื่น ๆ
กฏุกกโรหินี, ข่า, ข่าบ้าน (กลาง); ข่าหลวง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเรียงสลับ รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลแห้งแตก

ข่าใหญ่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีลำต้นเทียมซึ่งเกิดจากกาบใบเรียงสลับซ้อนกันแน่นชูเหนือดินสูง ๑-๑.๕ ม.

 ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ลิ้นใบยาวประมาณ ๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาวประมาณ ๔๐ ซม. แกนช่อดอกมีขนเล็กน้อย ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปรี ปลายมน ยาวประมาณ ๙ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันบางอันเปลี่ยนเป็นกลีบปาก กลีบปากรูปรี ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันที่เหลือมักลดรูปหายไป เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ยาวประมาณ ๗ มม. ก้านชูอับเรณูแบนและกว้าง อับเรณูไม่มีหงอน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ผิวเกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก

 ข่าใหญ่เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia siamensis K. Schum.
ชื่อสกุล
Alpinia
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Schumann, Karl Moritz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Schumann, Karl Moritz (1851-1904)
ชื่ออื่น ๆ
กฏุกกโรหินี, ข่า, ข่าบ้าน (กลาง); ข่าหลวง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์