เขยตายเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๔ ม. เปลือกเรียบ สีขาว ยอดอ่อนมักมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงใบหรือเปลือกเมื่อขยี้มีกลิ่นฉุนคล้ายส้มหรือมะนาว
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยมี ๑-๗ ใบ เรียงสลับหรืออาจเรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือทู่ โคนสอบแคบหรือรูปลิ่มขอบเรียบ จักฟันเลื่อย หรือหยักมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีต่อมน้ำมันโปร่งแสงกระจายทั่วไป ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวซีดหรือสีขาวนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบรวมแกนกลางยาว ๖-๑๔ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๒-๕ มม. บวมเป็นข้อหนาและแข็ง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเป็นช่อสั้น ๆ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๒๐ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงประปรายถึงเกลี้ยง แขนงช่อมีดอกออกเป็นกระจุก ก้านดอกย่อยสั้นมากถึงไม่มี ดอกเล็ก สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมหรือรูปลิ่ม ยาว ๑-๒ มม. สีเขียวอ่อนด้านนอกมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. รูปขอบขนาน ปลายมน เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาว ๓-๔ มม. ก้านชูอับเรณูแบน อับเรณูรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกระบอกสั้น ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง และมีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไป มี ๓-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียหนาและสั้น ยอดเกสรเพศเมียปลายแบน กว้างกว่าก้านเล็กน้อย
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ผลอ่อนสีเขียวสุกสีขาว ส้ม หรือชมพู มีเนื้อใสและเห็นต่อมน้ำมันกระจายทั่วผล เมล็ดรูปทรงกลม ครึ่งวงกลม หรือรูปขอบขนานสีเขียว เมล็ดบางส่วนมักเป็นหมันหรือฝ่อไป เหลือเพียง ๑-๓ เมล็ด
เขยตายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามแนวชายป่าใกล้ลำธาร ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นที่แสงส่องถึง ที่สูงจากระดับทะเลตั้งแต่ ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย
ประโยชน์ ดอกและผลนำมาตำทาแก้หิด ผลสุกรับประทานได้.