ตาเป็ดหินเป็นไม้พุ่ม สูง ๓๐-๔๕ ซม. กิ่งอ่อนมีเกล็ดเล็กคล้ายผงสีน้ำตาลแดงค่อนข้างหนาแน่น กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. พบน้อยที่ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟันหรือหยักมน ด้านบนเกลี้ยงหรือมีเกล็ดประปราย ด้านล่างมีเกล็ดเล็กคล้ายผงสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่นและหนาแน่นมากตามเส้นกลางใบ มีต่อมขนาดเล็กจำนวนมากกระจายทั่วไป เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ค่อนข้างนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปเป็นเส้นขอบใน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีเกล็ดเล็กคล้ายผงสีน้ำตาลแดง ต่อมาค่อนข้างเกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. มีเกล็ดเล็กหนาแน่น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมนหรือแหลม ด้านนอกมีเกล็ดเล็กสีน้ำตาลและต่อมเล็กจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีต่อมเล็กสีแดง
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อสุกสีค่อนข้างดำ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตาเป็ดหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบในป่าดิบ ตามริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และมาเลเซีย.