ชะมวง

Garcinia cowa Roxb. ex DC.

ชื่ออื่น ๆ
กะมวง (ใต้); กานิ (มลายู-นราธิวาส); มวงส้ม (นครศรีธรรมราช); หมากโมก (อุดรธานี)
ไม้ต้น กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กิ่งอ่อนมักเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกชั้นในสีแดง ส่วนต่าง ๆ มียางสีเหลืองตายอดอยู่ในซอกก้านใบที่ปลายกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรีดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองหรือสีนวล ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่ บางครั้งเบี้ยว มีร่องตื้นตามยาว ๖-๘ ร่อง ปลายเรียว ผลดิบสีเขียว สุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม มี ๓-๘ เมล็ด เปลือกเมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้ม

ชะมวงเป็นไม้ต้น สูง ๘-๒๐ ม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กิ่งอ่อนมักเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นเกล็ด สีน้ำตาลอมเทาหรือสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เปลือกชั้นในสีแดง ส่วนต่าง ๆ มียางสีเหลือง ตายอดอยู่ในซอกก้านใบที่ปลายกิ่ง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบมักพับหากันคล้ายรูปตัววี ค่อนข้างบาง เปราะ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เป็นมันทางด้านบน เส้นกลางใบเป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๘ เส้น ปลายโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบอ่อนสีแดงหรือสีน้ำตาลอมแดง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองหรือสีนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้าง ยาว ๔-๖ มม. เป็นแอ่ง หนา กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่กว้าง กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. หนา ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๔-๘ มม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มรูปสี่เหลี่ยม ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูสั้น อาจมีเกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็กหรือไม่มีดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้


เป็นหมัน เชื่อมติดกันเป็น ๔ มัด สั้นกว่ารังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๖-๘ ช่องแต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย

ยอดเกสรเพศเมียแบน แยกเป็นแฉกตามแนวรัศมี ๖-๘ แฉก มีปุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงกลมแกมรูปไข่ บางครั้งเบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. มีร่องตื้นตามยาว ๖-๘ ร่อง เห็นชัดหรือไม่ชัด ปลายเรียว ผลดิบสีเขียว สุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม มีกลีบเลี้ยงและยอดเกสรเพศเมียติดทน มี ๓-๘ เมล็ด ยาว ๒-๒.๕ ซม. เปลือกเมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้มพบบ่อยที่มีเมล็ดฝ่อ

 ชะมวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าพรุ ป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมสน และป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ประกอบอาหาร ผลดิบมีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว กินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะมวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Garcinia cowa Roxb. ex DC.
ชื่อสกุล
Garcinia
คำระบุชนิด
cowa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
กะมวง (ใต้); กานิ (มลายู-นราธิวาส); มวงส้ม (นครศรีธรรมราช); หมากโมก (อุดรธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย