ข่าแดงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินแบบเหง้า เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ ซม. มีใบเกล็ดสีแดง ลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบกันแน่นอยู่เหนือดินสูง ๒-๖ ม. และขึ้นรวมกันเป็นกอ กาบใบสีแดง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับแคบ กว้าง ๑๖-๒๓ ซม. ยาว ๐.๗๕-๑.๑๕ ม. ปลายยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ผิวใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนนุ่มสั้น ๆ ประปรายด้านหลังใบ ใบอ่อนสีม่วงแดงด้านหลังใบ หรือมีขีดแดงเฉียงด้านบนใบ ก้านใบยาว ๓-๔ ซม. ลิ้นใบรูปใบหอก ปลายแหลม ยาวประมาณ ๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด เกิดจากเหง้า เกือบทั้งช่อฝังอยู่ใต้ดิน โผล่พ้นดินเฉพาะปลายช่อ รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันแน่น แต่ละใบรองรับกลุ่มของดอก โดยแต่ละดอกมีใบประดับย่อยโอบหุ้มอยู่ ใบประดับที่ไม่มีดอก เรียงอยู่วงนอกของช่อดอก รูปรี หรือรูปใบหอก สีแดงเข้ม กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. ขอบมีขน ปลายแหลม มีขนครุย ใบประดับที่มีดอก รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๙.๕ ซม. สีแดงเข้ม ปลายมนและมีขนครุย ขอบสีจางลงและมีขน ใบประดับย่อยโคนติดกันเป็นหลอด มีขน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายแหลม มีขนครุย และหยักลง ๑ แฉก ลึกประมาณ ๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๖ ซม.โคนติดกันเป็นหลอด มีขน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก แฉกลึกประมาณ ๒.๕ ซม. สีแดงเข้ม และจางลงไปสู่โคน กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอดมีสีขาวเรื่อแดง ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก สีแดง รูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีขน ปลายมน มีขนครุย เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนแปลงเป็นกลีบปากสีแดง รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๐ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายมน ส่วนโคนของแผ่นมีขอบขาว เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านเกสรเพศผู้ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. อับเรณูกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีแดง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียสีแดงอมม่วงเข้มเกือบดำ ช่อผลค่อนข้างกลม ยังคงมีใบประดับและใบประดับที่เป็นหมันหลงเหลือติดอยู่ด้วย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ มีขน และเป็นสันตามยาว เมื่อแก่สีน้ำตาล
ข่าแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.