กระเทียม

Allium sativum L.

ชื่ออื่น ๆ
กระเทียมขาว, หอมขาว (อุดรธานี); กระเทียมจีน (กลาง); เทียม, หัวเทียม (ใต้); หอมเทียม (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ทุกส่วนมีกลิ่น มีหัวใต้ดิน มักมีหลายกลีบ ใบเรียงซ้อนสลับ รูปแถบ แบน โคนแผ่และเชื่อมติดเป็นลำต้นเทียมช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี ๓ พู

กระเทียมเป็นไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๖๐ ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูซึ่งลอกออกได้หุ้มอยู่ ๓-๔ ชั้น แต่ละหัวมี ๖-๑๐ กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อนลำต้นลดรูปลงไปมาก

 ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง ๐.๕- ๒.๕ ซม. ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ปลายแหลม ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่และเชื่อมติดกันเป็น หลอดหุ้มรอบโคนใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอก ทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อย ๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกแบบก้านโดด เรียบ รูป ทรงกระบอกตัน ยาว ๔๐-๖๐ ซม. อยู่ปะปนกับตะเกียงรูปไข่เล็ก ๆ จำนวนมาก มีใบประดับใหญ่ ๑ ใบ ยาว ๗.๕-๑๐ ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ดอกเล็ก กลีบรวม ๖ กลีบ แยกกันหรือติดกันที่โคน สีขาวหรือขาวอมชมพู รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดที่โคนกลีบรวมอับเรณูและก้านยอดเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก เป็นกระเปาะสั้น ๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี ๓ พู เมล็ดเล็ก สีดำ

 กระเทียมมีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของทวีปยุโรปถึงตอนกลางของทวีปเอเชีย และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยนำมาปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเพื่อใช้เป็นอาหารและเครื่องเทศ โดยใช้ทั้งต้นเป็นอาหาร หัวกระเทียมสด แห้ง และน้ำมันกระเทียมใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด และเป็นอาหารเสริมสุขภาพได้ด้วย

 มีผู้ใช้กระเทียมเป็นยาพื้นบ้านมานานหลายร้อยปีมาแล้ว โดยใช้บำบัดอาการไอ หวัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดฟัน ปวดหู ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดเปราะขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน ขับพยาธิไส้เดือน


ลดอาการอักเสบบวม ฆ่าเชื้อ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าแมลง น้ำมันกระเทียมใช้ทาแก้แมลงกัดต่อย (Ayensu, 1981, Leung, 1980, Perry and Metzger, 1980) มีรายงานถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระเทียมและน้ำมันกระเทียมว่า ทำให้น้ำตาลในเลือดของกระต่ายลด ลดไขมันในกระต่ายและคน ลดความดันโลหิตในสัตว์และคน ฤทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้เนื่องมาจากสาร allicin, diallyl disulphide และ diallyl trisulphide นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผิวหนังอักเสบและแสบร้อนเมื่อสัมผัส (Leung, 1980; Reynolds and Prasad eds., 1982)

 กระเทียมสดประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่ายประมาณร้อยละ ๐.๒ นอกนั้นเป็น alliin, เอนไซม์ โปรตีน ไขมัน วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ กรดแอมิโน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ อีกหลายชนิดในน้ำมันระเหยง่ายประกอบด้วยสารเคมีประเภทสารประกอบของกำมะถัน ที่เป็นสารหลักคือ allicin, diallyl disulphide, diallyl trisulphide, allylpropyl disulphide และที่พบเป็นส่วนน้อยคือ dimethyl sulphide, dimethyl disulphide, dimethyl trisulphide, diethyl disulphide, diallyl sulphide, methyl allyl trisulphide, diallyl polysulphide, methanethiol และสารประกอบของกำมะถันอื่น ๆ อีกหลายชนิด นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยสารระเหยได้ชนิดอื่น ๆ อีก คือ citral, geraniol, linalool และ α-and β-phellandrene (Atal and Kapur, 1982; Leung, 1980; Parry, 1969; Pruthi, 1980) allicin ซึ่งเป็นสารสําคัญที่มีกลิ่นนั้นเกิดจากปฏิกิริยาของเอนไซม์ allinase เปลี่ยน alliin ให้เป็น allicin ความร้อนและด่างทำให้ allicin เสื่อมสลายได้ แต่กรดเจือจางไม่ทำให้ allicin เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กระเทียมดองในน้ำส้มจึงยังมีกลิ่นอยู่ (Kochhar, 1981; Leung, 1980)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเทียม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Allium sativum L.
ชื่อสกุล
Allium
คำระบุชนิด
sativum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระเทียมขาว, หอมขาว (อุดรธานี); กระเทียมจีน (กลาง); เทียม, หัวเทียม (ใต้); หอมเทียม (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย