เขยตรีเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๓ ม.เปลือกบาง สีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยมี ๑-๕ ใบ เรียงสลับ รูปไข่ รูปค่อนข้างกลม หรือรูปรีกว้าง ๑.๒-๓.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. ปลายมนและเว้าบุ๋มโคนรูปลิ่มถึงมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนมีต่อมน้ำมันขนาดเล็กจำนวนมากกระจายทั่วไปและมีขนสั้นที่เส้นกลางใบเล็กน้อยถึงเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่นบริเวณเส้นกลางใบขอบใบ และปลายใบที่เว้าบุ๋ม เมื่อใบแห้งด้านบนมีสีน้ำตาลดำด้านล่างสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบประกอบรวมแกนกลางยาว ๑-๕ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๑-๕ มม. มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกสั้นตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๐.๒-๑ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น แต่ละช่อมี ๔-๖ ดอก ก้านดอกสั้นมาก ดอกเล็ก สีขาว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร สั้น ๔ เกสร ยาว ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขนประปรายอับเรณูเกลี้ยงถึงมีขนกำมะหยี่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกระบองหรือรูปทรงรี มีต่อมน้ำมันประปราย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปครึ่งวงกลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี ยาวประมาณ ๐.๕-๑ ซม. เปลือกบาง มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วผล มียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ด ๑ เมล็ด รูปทรงกลม ค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๖ มม.
เขยตรีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบในป่าดิบชื้น ตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลตั้งแต่ ๑๐๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและมาเลเซีย.