ตากวง ๒

Salacia laotica Pit.

ไม้เลื้อย กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งแขนงค่อนข้างเรียบและมีช่องอากาศประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปใบหอกแกมรูปรี ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามปุ่มใบประดับ สีขาวอมเขียว มีจานฐานดอกฉ่ำน้ำ

ตากวงชนิดนี้เป็นไม้เลื้อย กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งแขนงค่อนข้างเรียบและมีช่องอากาศประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๖-๗ ซม. ยาว ๑๘-๒๔ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนกลมหรือเกือบกลม ขอบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๑๘ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย

 ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามปุ่มใบประดับ กระจุกละ ๓-๖ ดอกหรือมากกว่า สีขาวอมเขียว ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ขอบเว้าเล็กน้อย ติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ พบน้อยที่มี ๔ กลีบหรือ ๖-๗ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม กลีบดอกรูปไข่กว้างและเว้า กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ตั้งตรง จานฐานดอกฉ่ำน้ำ หุ้มเกสรเพศเมียไว้เกือบมิด เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ติดอยู่ด้านบนของจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูรูปลิ่มสั้น อับเรณูหันออกรังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ฝังอยู่ในจานฐานดอกเกือบมิด มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากยอดเกสรเพศเมียมน

 ผล ยังไม่มีข้อมูลการติดผลในประเทศไทย

 ตากวงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเต็งรังหรือป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ลาวและเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตากวง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Salacia laotica Pit.
ชื่อสกุล
Salacia
คำระบุชนิด
laotica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pitard, Charles-Joseph Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1927)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์