จัสมินด่างเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นมีเนื้อไม้ สูงได้ถึง ๑ ม.
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือกึ่งตั้งฉาก ก้านใบยาว ๔.๗-๖ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น มีใบย่อย ๕ ใบ รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ปลายค่อนข้างมน โคนเรียว มน หรือเบี้ยวขอบเรียบหรือจักและเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมัน สีเขียวมักมีลายด่างสีขาวหรือสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ใบย่อยที่ปลายกว้างประมาณ ๓.๓ ซม. ยาวประมาณ ๕.๘ ซม. ก้านยาวประมาณ ๑.๖ ซม. ใบย่อยคู่ข้างกว้าง ๒.๓-๒.๖ ซม. ยาว ๓.๘-๔.๕ ซม. ก้านสั้นมากจนเกือบไม่มีหรือยาวประมาณ ๑.๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาวประมาณ ๓ ซม. ก้านช่อย่อยยาว ๑-๑.๘ ซม. ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย สีขาว กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายตัดหรือเป็นหยักสั้น ๆ กลีบดอกสีชมพูอ่อนเกือบขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. ภายในมีขนสั้นสีขาวหนาแน่น ปลายขยายออกเป็นรูปปากแตร กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ด้านนอกสีขาว ด้านในมีจุดประขนาดเล็กหรือเป็นเส้นบาง ๆ สีม่วงปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับ กว้าง ๒.๒-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. กลางแฉกพับนูนตามยาวเป็นสันตั้งขึ้นประมาณ ๕ มม. ปลายมน ตรงกึ่งกลางเว้าเป็นคลื่นตามแนวสันที่พับ แฉกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ด้านในใกล้คอหลอดมีขนสั้นหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดกับโคนหลอดกลีบดอกที่คอด เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูของคู่สั้นยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ก้านของคู่ยาวยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีขาว อับเรณูรูปขอบขนาน แยกเป็น ๒ ซีก กางออกจากกันแต่ละซีกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๑ เกสร เป็นติ่ง สีขาวนวล ยาวประมาณ ๒ มม. จานฐานดอกสีขาว รูปวงแหวน มี ๕
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดมีปีก แต่มักไม่พบการติดผล
จัสมินด่างเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ ดอกบานเดือนธันวาคมถึงมีนาคม.