กระทุ่มเนินเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ขรุขระเป็นรอยแตกตามยาวเล็กน้อย ตายอดมีขนาดใหญ่ แบน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กว้าง หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๘-๒๐ ซม. ยาว ๘-๒๕ ซม. ปลายมนหรือแหลมโคนมนหรือเว้า ขอบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือด้านล่างอาจมีขนประปราย ก้านใบยาว ๑.๔-๖ ซม. หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น มีจำนวนมาก ออกตามปลายกิ่ง มีใบประดับแซมอยู่บนช่อ ร่วงง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๑.๘-๓ ซม. ดอกเล็ก สีนวล ปากหลอดกลีบดอกมีขนยาว
ผลแบบผลแห้งแตก ยาว ๓-๖ มม.
กระทุ่มเนินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่ง ในต่างประเทศพบทางภาคเหนือของอินเดีย บังกลาเทศ พม่า และลาว
ส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยแอลคาลอยด์หลายชนิด (Shellard and Phillipson, 1946; Houghton and Shellard, 1974) จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในสัตว์ทดลองพบว่าแอลคาลอยด์ isorhynchophylline สกัดกั้นการส่งกระแสประสาทที่กล้ามเนื้อ (Harada and Ozaki, 1976) และแอลคาลอยด์ rhynchophylline ออกฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ ลดความดันโลหิต (Saxton, 1965) และทำให้ปลายประสาทพาราซิมพาเทติกชา (Henry, 1949).