ตาปลาป่าปูนเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นหินปูนหรือเกี่ยวพันไปบนต้นไม้สูง เปลือกลำต้นบาง เรียบ สีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อนแกมสีเทา ตามกิ่งมีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๘.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างถึงมน ขอบเรียบ แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงเป็นมันหรือมีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๘-๔ ซม. แกนกลางใบยาว ๓-๗ ซม. เป็นร่องตามยาวทางด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๐.๔-๑ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย ไร้หูใบย่อย
ช่อดอกคล้ายช่อกระจะหรือคล้ายช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ยาว ๖.๕-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. แขนงช่อดอกยาวได้ถึง ๑๑ ซม. ทั้งแกนกลางช่อดอกและแขนงช่อดอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่นบริเวณใกล้ปลาย ใบประดับรองรับช่อดอกรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย กิ่งงันบนช่อดอกรูปกระบองหรือรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๒-๑.๓ ซม. มี ๓-๘ ดอก กระจายตลอดความยาวของกิ่งงัน บริเวณส่วนปลายของช่อดอกกิ่งงันอาจลดรูป มีเพียงดอกเดี่ยว ๆ บนแกนกลางช่อดอก ใบประดับรองกิ่งงันรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๐.๖-๑ มม. ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ใบประดับรองรับดอกรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาว ๐.๔-๐.๗ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกยาว ๒-๖ มม. มีขนนุ่ม ใบประดับย่อยพบที่บริเวณปลายสุดของก้านดอกติดกับกลีบเลี้ยง รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๖ มม. ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวหรือสีชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว๒-๓ มม. สีออกแดงหรือสีแดงเข้ม ด้านนอกมีขนคล้ายไหมบาง ๆ ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็นด้านบน ๒ แฉก ด้านข้าง ๒ แฉก และด้านล่าง ๑ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมสั้น แฉกยาว ๐.๒-๐.๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางสีขาว บริเวณกลางกลีบสีเขียวอ่อน รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. ปลายกลีบหยักเว้าตื้น ไม่มีรอยด้านที่ฐานกลีบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๐.๗-๑ มม. กลีบคู่ข้างสีขาว รูปรีแคบ กว้าง ๐.๗-๑ มม. ยาว ๗-๘ มม. ปลายกลีบมน มีติ่งกลีบด้านบน ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มักพับโค้งไปด้านหลังหรือม้วนงอเป็นวงเมื่อดอกบานเต็มที่ ก้านกลีบยาว ๒-๓ มม. กลีบคู่ล่างสีขาวหรือค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูที่ปลายกลีบ รูปเรือ กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๗-๗.๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน ติ่งกลีบด้านบนยาว ๐.๘-๑ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นกลุ่มเดียว ยาวประมาณ ๑ ซม. ส่วนปลายที่แยกยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง จานฐานดอกมีลักษณะเป็นวงแหวน หนา ๐.๒-๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๖.๕-๗ มม. มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๕-๖ มม. มีขนประปรายที่โคน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนานหรือรูปรีแคบ เป็นฝักแบน กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. มีปีกที่ขอบทั้ง ๒ ข้าง ปีกกว้าง ๑-๗ มม. อาจมีขน
ตาปลาป่าปูนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งหรือป่าผสมผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางตั้งแต่ ๕๕๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่จีน ลาว และเวียดนาม.