จันมัน

Premna mollissima Roth

ชื่ออื่น ๆ
คางแมว, ปูผ้า (ลำปาง); มันไก่, มันพร้าว, มันหมู (เหนือ); หมูหมัน (เชียงราย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาประปรายถึงหนาแน่นมีช่องอากาศกระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเขียว กลีบดอกรูปปากเปิด ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม สุกสีม่วงดำ เมล็ดขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด

จันมันเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาประปรายถึงหนาแน่น มีช่องอากาศกระจายทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่ แกมรูปรี หรือรูปรี กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม มนกลม หรือรูปหัวใจ มักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปรายถึงหนาแน่นด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าและมีต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลกระจายทั่วไป เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๔-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑-๔ ซม. ก้านและแกนช่อมีต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลหนาแน่น ดอกเล็ก มีจำนวนมาก สีขาวหรือสีขาวอมเขียว ก้านดอกยาว ๑-๕ มม. ใบประดับรูปไข่ รูปแถบ หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๑-๑.๕ มม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน แฉกรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ปลายแหลมหรือมน มีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๒.๕-๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกบน ๑ แฉก รูปกลมหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขนาดใหญ่สุด ปลายมนหรือเว้าตื้น แฉกล่าง ๓ แฉก รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายมนด้านนอกหลอดและแฉกกลีบดอกมีขนสั้นประปราย คอหลอดกลีบดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับหรือรูปค่อนข้างกลม เกลี้ยงหรือมีขนและมีต่อมสีเหลืองประปราย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๆ ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. สุกสีม่วงดำมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด

 จันมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง


ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามริมลำธารในป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนเมษายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Premna mollissima Roth
ชื่อสกุล
Premna
คำระบุชนิด
mollissima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roth, Albrecht Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1757-1834)
ชื่ออื่น ๆ
คางแมว, ปูผ้า (ลำปาง); มันไก่, มันพร้าว, มันหมู (เหนือ); หมูหมัน (เชียงราย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี