ขาเขียดเป็นไม้น้ำปีเดียวหรือสองปี รูปร่างและขนาดของลำต้นและใบแปรปรวนมาก เหง้าอ้วนสั้นเมื่ออยู่ในที่แฉะ และผอมยาวขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำลึก ต้นสูง ๕-๕๐ ซม. ต้นแก่มักขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่หนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกใกล้ระดับดิน ใบอ่อนอยู่ใต้น้ำ เห็นแผ่นใบไม่ชัดเจน แผ่นใบเหนือน้ำรูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ จนถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๐.๕-๑๐ ซม. ยาว ๒-๑๒.๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนป้านจนถึงเว้ารูปหัวใจ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นใบขนานกันตามแนวยาว ก้านใบอ่อนเป็นโพรง กาบใบอ่อนสีเขียวอมแดง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกจากก้านใบตรงข้ามกาบใบ ที่จุดสูงจากโคนก้านใบขึ้นมาประมาณ ๒ ใน ๓ ของความยาวของก้านใบ มีใบประดับขนาดใหญ่รองรับช่อดอก แต่ละช่อมี ๓-๒๕ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๔-๒.๕ ซม. เมื่อช่อดอกแก่และผสมพันธุ์แล้วก้านช่อดอกจะงอกลับลงด้านล่าง วงกลีบรวม ๖ กลีบ ยาว ๑-๑.๕ ซม. สีม่วงหรือน้ำเงินอมฟ้า จะบานออกในระยะแรก เมื่อดอกแก่เริ่มเหี่ยวปลายกลีบจะบิดม้วนไปด้านใดด้านหนึ่ง เกสรเพศผู้ ๖ อัน เป็นชนิดก้านชูอับเรณูสั้นและอับเรณูสีเหลือง ๕ อัน ส่วนอีก ๑ อันก้านชูอับเรณูยาวมีจะงอยแหลมยื่นเอียงออกทางด้านข้างบริเวณใต้อับเรณูสีน้ำเงิน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ พู แต่ละพูมีออวุลหลายเม็ด
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปรี ยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่อแก่จะแตกออกเป็น ๓ ส่วน เมล็ดเล็ก จำนวนมาก มีร่องสลับกับสันตามแนวยาว
ขาเขียดเป็นพรรณไม้ประจำถิ่นของเอเชียและแอฟริกาเขตร้อนชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ชอบขึ้นในที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตื้น ๆ ตามที่ชื้นแฉะในนาข้าว จัดเป็นวัชพืชร้ายแรงชนิดหนึ่งในนาข้าว ออกดอกมากในช่วงที่นาข้าวเริ่มแห้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ในต่างประเทศพบในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต้นอ่อนใช้เป็นผัก (Ochse, 1980) นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ในแง่สมุนไพร โดยมีรายงานว่า ชาวพม่าใช้ขาเขียดทั้งต้นรักษาโรคทางเดินอาหาร โรคหืดและปวดฟัน ในเกาะไหหลำกินดอกแก้ร้อนใน ในไต้หวันกินแก้ลมแดด อหิวาตกโรค ปวดท้อง ในอินโดนีเซียใช้น้ำคั้นจากรากแก้โรคตับ หืด และปวดฟัน (Perry and Metzger, 1980).