ตาปลาตะวันออกเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมักเลื้อยพันไปบนต้นไม้สูงจนถึงระดับเรือนยอด เปลือกลำต้นบาง เรียบ สีเทา สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลอ่อนแกมสีเทา ตามกิ่งมีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๓-๕.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๒ ซม. ปลายค่อนข้างเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๔-๖ ซม. เป็นร่องตามยาวทางด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๐.๗-๑ ซม. แกนกลางใบยาว ๕-๘ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ไม่พบหูใบย่อย
ช่อดอกคล้ายช่อกระจะหรือคล้ายช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๘ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. แขนงช่อดอกยาว ๔.๕-๑๕ ซม. ทั้งแกนกลางและแขนงช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ใบประดับรองรับช่อดอกรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย กิ่งงันบนช่อดอกมีลักษณะเป็นปุ่มปมถึงมีรูปเป็นทรงกระบอก ยาว ๐.๓-๓ มม. บางครั้งมีขนาดเล็ก เห็นไม่ชัด มี ๒-๓ ดอก พบบ้างที่มีได้ถึง ๕ ดอก กระจายไปตลอดความยาวของกิ่งงัน ใบประดับรองกิ่งงันรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาว ๐.๗-๐.๘ มม. ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง ใบประดับรองรับดอกรูปไข่ กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม. ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกยาว ๓-๕.๕ มม. มีขนประปราย ใบประดับย่อยอยู่บริเวณปลายสุดของก้านดอกติดกับกลีบเลี้ยง รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๖ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๒.๕-๓.๕ มม. สีออกแดงเข้ม ด้านนอกมีขนคล้ายไหมประปราย ด้านในเกลี้ยงยกเว้นบริเวณใกล้แฉกกลีบเลี้ยงที่มีขนประปราย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็นด้านบน ๒ แฉก ด้านข้าง ๒ แฉก และด้านล่าง ๑ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมสั้น ยาว ๐.๒-๐.๕ มม.
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนานหรือรูปรีแคบ เป็นฝักแบน กว้าง ๒.๕-๓.๗ ซม. ยาว ๓.๓-๘ ซม. มีปีกที่ขอบทั้ง ๒ ข้าง ปีกกว้าง ๒-๘ มม. เกลี้ยง เมล็ดรูปทรงรี คล้ายรูปจาน หรือรูปไต กว้าง ๑.๓-๑.๔ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. หนา ๐.๕-๑ มม. มี ๑-๒ เมล็ด ขั้วเมล็ดอยู่บริเวณกลางของเมล็ดหรือถัดมาเล็กน้อย ยาวประมาณ ๒ มม.
ตาปลาตะวันออกเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นหรือป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงมกราคมของปีถัดไป
หมายเหตุ ยังไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้แต่จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นพบว่ามีการใช้เถาเป็นยาฆ่าแมลงและเบื่อปลา.