ตับปลาเกลี้ยง

Ardisia atrovirens K. Larsen et C. M. Hu

ชื่ออื่น ๆ
ตาเป็ดตาไก่ (ใต้)
ไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งค่อนข้างเรียวเล็ก มักเป็นเหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ช่อเล็กและเรียว ช่อแขนงสั้นมากและมี ๑-๒ ดอก ดอกสีชมพู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม มีเมล็ด ๑ เมล็ด

ตับปลาเกลี้ยงเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑ ม. กิ่งค่อนข้างเรียวเล็ก มักเป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแหลมหรือคล้ายรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นใบค่อนข้างแบนราบทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเลียบขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. เป็นร่องตื้นทางด้านบน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งช่อเล็กและเรียว ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ช่อแขนงสั้นมาก ยาว ๐.๒-๒ ซม. มี ๑-๒ ดอก ดอกสีชมพู ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. มักมีขนและมีต่อมเล็ก ๆ กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขน อาจมีต่อมบ้างแต่เห็นไม่ชัด กลีบดอกสีชมพู ยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๐.๕-๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมมีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ตับปลาเกลี้ยงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับปลาเกลี้ยง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia atrovirens K. Larsen et C. M. Hu
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
atrovirens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
- Hu, Chi Ming
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
- Hu, Chi Ming (1935-)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเป็ดตาไก่ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์