ชะพลูปีนังเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ ๖๐ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจหรือรูปรีกว้างสมมาตรหรือไม่สมมาตร กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๙.๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจหรือเบี้ยว ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบบาง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบออกใกล้โคนใบข้างละ ๓-๔ เส้น ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. เกลี้ยง หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อหางกระรอก รูปทรงกระบอก ออกตรงข้ามใบใกล้ปลายยอด สีขาว แกนช่อดอกมีขน ดอกอัดแน่นบนแกนช่อ ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับรูปโล่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านใบประดับยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑.๘-๒.๓ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว มี ๓-๔ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. อัดแน่นบนแกน มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ช่อผลรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ตั้งตรง เกลี้ยงก้านช่อผลยาวประมาณ ๒ มม. เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด
ชะพลูปีนังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบบริเวณที่เปิดโล่งใกล้สันเขาในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลได้ถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรอินเดียและคาบสมุทรมาเลเซีย.