จันพอเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีช่องอากาศ
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๕-๖ ซม. แกนกลางยาว ๑๖-๒๐ ซม. ใบย่อย ๑๑-๒๓ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยด้านข้างรูปรีแกมรูปขอบขนาน ใบย่อยใบปลายรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ ใบย่อยโคนช่อรูปรี ใบย่อยกว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายมนหรือแหลม มีติ่ง โคนมนหรือมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๒ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. มักติดทน ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง หูใบย่อยยาว ๑-๑.๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ช่อยาว ๕-๘ ซม. ใบประดับรูปใบหอก มักติดทน ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขน ใบประดับย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ร่วงง่าย ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ด้านนอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. มีขนดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงถึงสีแดงเรื่อ ยาว ๑-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมตื้นปลายแหลม มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ ด้านนอกมีขน กลีบกลางรูปไข่กลับ โคนตัด กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ปลายมนกลม กลีบคู่ล่างโคนมีติ่ง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแกมรูปแถบหรือรูปใบหอกกลับแคบ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. หนา ๗-๘ มม. ปลายแหลม เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ผิวเป็นมัน มี ๑-๓ เมล็ด
จันพอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามที่โล่งหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลได้ถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ตอนเหนือของเวียดนาม และฟิลิปปินส์
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้าง และทำเครื่องใช้ต่าง ๆ.