คำขาว

Rhododendron moulmeinense Hook.

ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบป่า, กุหลาบขาว (นครศรีธรรมราช); ขาววังไทร (เชียงใหม่)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกลุ่มรูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตาม ๆ ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกรูปกรวย สีขาว ภายในหลอดดอกมีแต้มสีเหลืองเป็นทาง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมล็ดแบนมีปีกบางใสล้อมรอบ

คำขาวเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๘ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกลุ่มห่าง ๆ กลุ่มละ ๓-๖ใบ รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบมีขนแข็งประปรายหรือเกือบเกลี้ยง แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๑.๔ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ ๓-๕ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๒-๓ มม. ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแฉกคล้ายหนามแหลม กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๑-๑.๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ภายในหลอดดอกมีแต้มสีเหลืองเป็นทาง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากัน โคนก้านชูอับเรณู มีขนสั้นสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๓-๔ ซม. มีพู ๕ พู เมื่อแก่แตกเป็น ๕ เสี่ยง เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก แบน มีปีกบางใสล้อมรอบ

 คำขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบขึ้นกระจัด


กระจายตามสันเขาในป่าดิบเขาที่ค่อนข้างโปร่ง บนภูเขาที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๙๕๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คำขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhododendron moulmeinense Hook.
ชื่อสกุล
Rhododendron
คำระบุชนิด
moulmeinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, William Jackson
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1785-1865)
ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบป่า, กุหลาบขาว (นครศรีธรรมราช); ขาววังไทร (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข