ขันทองพยาบาท

Suregada multiflorum (A. Juss.) Baill.

ชื่ออื่น ๆ
กระดูก, ยายปลวก (ใต้); ขนุนดง (เพชรบูรณ์); ขอบนางนั่ง (ตรัง); ขัณฑสกร, ช้องรำพัน, สลอดน้ำ (จันทบุรี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตรงข้ามกับใบ ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม มี ๓ พู พูละ ๑ เมล็ด

ขันทองพยาบาทเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๔-๑๕ ม. เปลือกค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๙-๑๔ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนแหลมเป็นครีบลงมาหาก้านใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น ก้านใบสั้น ยาว ๓-๘ มม. หูใบยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตรงข้ามกับใบ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ก้านช่อดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มี ๕-๑๐ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีขนละเอียด ดอกตูมรูปกลม มีขน กลีบเลี้ยงกลม มี ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ขอบกลีบและกลีบด้านนอกมีขน ฐานดอกนูน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมีย ๓ อัน แต่ละอันแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม มี ๓ พู ปลายบุ๋มตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. เปลือกหนา สีเหลือง มี ๓ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม.

 ขันทองพยาบาทมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ช่วยทำให้ฟันทน ใช้เป็นยาถ่าย และยาแก้โรคเกี่ยวกับตับ (Chopra, Nayar and Chopra, 1956).




ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขันทองพยาบาท
ชื่อวิทยาศาสตร์
Suregada multiflorum (A. Juss.) Baill.
ชื่อสกุล
Suregada
คำระบุชนิด
multiflorum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jussieu, Adrien Henri Laurent de
- Baillon, Henri Ernest
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jussieu, Adrien Henri Laurent de (1797-1853)
- Baillon, Henri Ernest (1827-1895)
ชื่ออื่น ๆ
กระดูก, ยายปลวก (ใต้); ขนุนดง (เพชรบูรณ์); ขอบนางนั่ง (ตรัง); ขัณฑสกร, ช้องรำพัน, สลอดน้ำ (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์