กระทุ่มนา

Mitragyna diversifolia (Wall. ex G.Don) Havil.

ชื่ออื่น ๆ
กระท่อมขี้หมู, กระทุ่มน้ำ (กลาง); กระทุ่มดง (กาญจนบุรี); กาตูม (เขมร-ปราจีนบุรี); ตำ (เขมร-สุรินทร์)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีกว้างค่อนข้างกลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่งดอกเล็ก สีนวล ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่

กระทุ่มนาเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๘-๑๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งต่ำ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีกว้างเกือบกลมกว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายมน โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. หูใบ ระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ปรากฏชัดตามปลายกิ่ง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น มีจำนวนมาก ออกตามปลาย กิ่ง มีใบประดับขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายใบแซมห่าง ๆ บริเวณส่วนล่างของช่อ เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกประมาณ ๒ ซม. แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็ก สีนวล ไม่มีก้านดอกกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัดกลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านยอดเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ ขนาดเล็ก

 กระทุ่มนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้นที่ค่อนข้างโปร่ง ใกล้น้ำ และตามทุ่งนาทั่วไป ในต่างประเทศพบที่มณฑลยูนนานของจีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ใบมีสารประเภท heteroyohimbine และ oxindole หลายชนิดด้วยกัน (Shellard et al, 1967) ได้มีการนำ mitraphylline ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ประเภท Oxindole ไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าแอลคาลอยด์ชนิดนี้มีสมบัติลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง (Saxton, 1965)

 ในยาแผนโบราณของไทยเรียกกระทุ่มนาว่า กระท่อมขี้หมู ใช้ใบแทนใบกระท่อมสําหรับบำบัดโรคท้องร่วงเมื่อขาดแคลนใบกระท่อม (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ๒๕๒๒).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทุ่มนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mitragyna diversifolia (Wall. ex G.Don) Havil.
ชื่อสกุล
Mitragyna
คำระบุชนิด
diversifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
- Haviland, George Darby
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
- Haviland, George Darby (1857-1901)
ชื่ออื่น ๆ
กระท่อมขี้หมู, กระทุ่มน้ำ (กลาง); กระทุ่มดง (กาญจนบุรี); กาตูม (เขมร-ปราจีนบุรี); ตำ (เขมร-สุรินทร์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข