ดาวเรืองป่า

Anisopappus chinensis (L.) Hook. et Arn.

ชื่ออื่น ๆ
ดาวเรืองภู (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ); ตาปู (เลย)

ไม้ล้มลุกหลายปี เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้าย ช่อเชิงหลั่นหรือออกเดี่ยวที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบกระจุกแน่น วงใบประดับรูปครึ่งวงกลม ดอกสีเหลือง ดอกย่อย ในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย รูปลิ้น ดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรีหรือรูปกรวยคว่ำ มีสัน แพปพัสเป็นเกล็ด มีเมล็ด ๑ เมล็ด


     ดาวเรืองป่าเป็นไม้ล้มลุกหลายปีสูง ๓๐-๘๐ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีเหง้าใต้ดินใหญ่ กว้าง ๐.๕- ๑.๒ ซม.
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายมน โคนตัด ขอบหยักซี่ฟันถึงหยักมน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มและมีต่อมสีเหลือง ทั่วทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๓ ซม.
     ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นหรือ ออกเดี่ยวที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบกระจุกแน่น ก้านช่อยาวมากกว่า ๑ ซม. ช่อกระจุกเมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๒.๕ ซม. วงใบประดับรูปครึ่งวงกลม กว้าง ๐.๖- ๑.๓ ซม. สูงประมาณ ๕ มม. ใบประดับเรียงเป็น ๔ ชั้น ซ้อนทับกัน รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม มีต่อมเล็กน้อย ฐาน ดอกแบน มีใบประดับย่อยเป็นเกล็ดแห้ง ปลายเรียวแหลม แต่ละเกล็ดยาวประมาณ ๕ มม. ยาวกว่าดอกย่อยวงใน ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศ เมีย รูปลิ้น มี ๓๐-๔๐ ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเกล็ด กลีบ ดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกัน ปลายแผ่เป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายหยักซี่ฟัน ๔ หยัก ดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเกล็ด กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็น รูปทรงกระบอก ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูเชื่อมติดกันทางด้านข้าง รังไข่ อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศ เมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายช้อน

 

 

 

 

 


     ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรีหรือรูปกรวย คว่ำ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีสัน แพปพัสเป็นเกล็ดกว้าง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. และเกล็ดแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด
     ดาวเรืองป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ตามป่าก่อ-ป่าสน ตามพื้นทรายชื้นที่เป็นทุ่งหญ้า ที่สูงจาก ระดับทะเล ๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือน ตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เมียนมา จีน กัมพูชา แอฟริกาเขตร้อน และมาดากัสการ์.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดาวเรืองป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anisopappus chinensis (L.) Hook. et Arn.
ชื่อสกุล
Anisopappus
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (L.)
- Hook. et Arn.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (L.) ช่วงเวลาคือ (1707-1778)
- Hook. ช่วงเวลาคือ (1785-1865)
- Arn. ช่วงเวลาคือ (1799-1868)
ชื่ออื่น ๆ
ดาวเรืองภู (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ); ตาปู (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.