กระทุ่มโคกเป็นไม้ต้น ผลัดใบ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ปลายมนโคนป้านหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสีน้ำตาล ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ปลายมน มีสันกลางนูนขึ้นมา
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น แต่ละกระจุกกลม สีเหลืองออกตามปลายกิ่ง กลุ่มหนึ่งมี ๓ ช่อ ช่อที่อยู่ตรงกลางมีก้านสั้นกว่าช่อที่อยู่ด้านข้างมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายหยักตื้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายหยักบ้าน ด้านนอกเกลี้ยงด้านในมีขนหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็กมาก มีกลีบเลี้ยงติดอยู่
กระทุ่มโคกเป็นพืชแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน
เนื้อไม้ละเอียด สีนวล ใช้ทำคันไถและด้ามเครื่องมือ เช่น เสียม จอบ ขวาน สารเคมีที่พบในใบกระทุ่มโคกมีแอลคาลอยด์หลายชนิด (Shellard et al, 1967; Phillipson et al, 1973) และยังมีสารพวก triterpine glycosides (Likhitwitayawuid, 1986)
จากการนำแอลคาลอยด์บางชนิดไปศึกษาฤทธิ์ทาง เภสัชวิทยาในสัตว์ทดลอง ปรากฏว่า hirsutine มีฤทธิ์กดอย่างแรง ทำให้ชาเฉพาะที่และยับยั้งการส่งผ่านปมประสาท พาราซิมพาเทติก (parasympathetic ganglionic transmis sion) (Harada et al, 1979) isorhynchophylline มีฤทธิ์สกัดกั้นการส่งผ่านประสาท (neurotransmission) และการส่งผ่านประสาทสู่กล้ามเนื้อ (neuromuscular transmission) เพิ่มกำลังในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (Harada et al, 1979; Saxton, 1960) rhynchophylline มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิ ลดความดัน และทำให้ปลายประสาทพาราซิมพาเทติกชา (Saxton, 1960).