เข็มสาวใต้

Mycetia malayana (G. Don) Craib

ไม้พุ่ม เปลือกเรียบเป็นมันวาว สีขาว เทา หรือสีฟางแห้ง กิ่งเปราะและหักง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีเหลือง ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่สีเขียวเข้ม สุกสีขาว มีจุดประ เมล็ดจำนวนมากรูปทรงกลม สีดำ

เข็มสาวใต้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. ยอดอ่อนมีขนหนาแน่น เปลือกเรียบเป็นมันวาว สีขาว เทา หรือสีฟางแห้ง กิ่งเปราะและหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๖-๙ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๘-๒๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมยาว ๕-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งช่อยาว ๓.๕-๘ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาวได้ถึง ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน


เป็นรูปถ้วยขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขอบแฉกมีขนต่อม ๓-๔ เส้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ติดภายในหลอดกลีบดอก โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๒.๕ มม. โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๑-๑.๓ มม.

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. มี ๒ พู สีเขียวเข้ม สุกสีขาว มีจุดประ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดจำนวนมากรูปทรงกลม สีดำ

 เข็มสาวใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มสาวใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mycetia malayana (G. Don) Craib
ชื่อสกุล
Mycetia
คำระบุชนิด
malayana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George (1798-1856)
- Craib, William Grant (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ